ปณิธานสภาคณาจารย์
สภาคณาจารย์อาจจะกล่าวได้ว่า มีกำเนิดขึ้นจากพระปรีชาญาณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ได้ทรงริเริ่มเสนอแนะต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อครั้งอดีตเริ่มด้วย สภาศาสตราจารย์และมีวิวัฒนาการเป็นลำดับ จนกระทั่งเป็นสภาคณาจารย์ สภาคณาจารย์ ยึดมั่นในปณิธานที่จะดำเนินตามแบบพระดำริสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คือ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของอธิการบดี ในการที่จะบริหารงานของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิชาการ มาตรฐานอาจารย์ กิจการนิสิต และเรื่องอื่น ๆ ตามแต่จะได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ โดยยึดหลักในการพิจารณา ด้วยความเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยโดยส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
สภาคณาจารย์มุ่งหวังที่จะมีบทบาทที่สำคัญต่อมหาวิทยาลัย โดยทำหน้าที่เป็นผู้แทนคณาจารย์ทั้งปวง เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ ตลอดจนประสานงาน ด้วยความร่วมมืออันดียิ่งกับฝ่ายบริหาร คณาจารย์ นิสิต ตลอดจนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น สโมสรอาจารย์ และสมาคมนิสิตเก่าฯเพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีในการที่จะมุ่งมั่น สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยโดยส่วนรวมอันจะเป็นผลดีต่อสังคมและประเทศชาติในที่สุด
ประวัติสภาคณาจารย์
ความคิดในเรื่องการจัดตั้งสภาคณาจารย์ ดังที่ต่างประเทศ เรียกว่า Faculty Senate เกิดขึ้นจากพระปรีชาญาณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงริเริ่มเสนอแนะต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนับตั้งแต่ระยะแรกที่มหาวิทยาลัยก่อกำเนิดขึ้น
ต่อมาเมื่อปลายปี พ.ศ.2506 ได้มีความเคลื่อนไหวที่พยายามจะปรับปรุงมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยอาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ได้พบปะแลกเปลี่ยนทัศนะและหารือกันถึงภาวะของการศึกษาของไทย และลงความเห็นว่า ควรจัดให้มีการพบปะสัมมนาเกี่ยวกับปัญหาของบทบาทของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย การสัมมนาดังกล่าวได้จัด
ให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 1-5 มิถุนายน พ.ศ. 2507 หลังจากนั้นได้มีการสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกหลายครั้ง ทั้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในมหาวิทยาลัยอื่น ในการสัมมนาเกือบทุกครั้ง ผู้เข้าร่วมสัมมนา ต่างก็ลงความเห็นว่า ควรจัดให้มี “สภาคณาจารย์” เพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์ได้มีส่วนร่วมในการบริหารมหาวิทยาลัย
ความเคลื่อนไหวในทางปฏิบัติได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2508 โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทดลองจัดตั้ง “สภาศาสตราจารย์” ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เป็นสมาชิกของสภานี้ แต่แล้ว “สภาศาสตราจารย์” ก็สลายตัวไป และลำพังศาสตราจารย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสภา ไม่อาจจัดได้ว่าเป็นตัวแทนของอาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัยได้จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2512 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น คณะกรรมการคณะนี้ เสนอความเห็นให้จัดตั้ง “สภาคณาจารย์” เพื่อให้คณาจารย์ได้มีส่วนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานด้านวิชาการและกิจการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ให้ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย รับไปประกอบการพิจารณาและได้ร่างข้อบังคับว่าด้วย “สภาคณาจารย์” ไว้ด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ.2513 มีผู้ออกความเห็นเกี่ยวกับการแยกมหาวิทยาลัยออกเป็น “มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล” หลายคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นอีกคณะหนึ่งให้พิจารณาเกี่ยวกับเรื่อง “มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล” ในการพิจารณาพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องนั้น คณะกรรมการชุดที่ 2 ได้เสนอให้จัดตั้ง “สภาคณาจารย์” ขึ้นอีกในทำนองเดียวกันกับคณะ
คณะกรรมการชุดแรก
ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2514 สโมสรอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล เป็นนายกสโมสร จัดให้มีการสัมมนาเกี่ยวกับ “ระบบบริหารมหาวิทยาลัย” ที่ประชุมสัมมนาคราวนั้น เสนอให้มหาวิทยาลัยจัดตั้ง “สภาคณาจารย์” อีกเช่นเดียวกัน ครั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2514 มหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้ คณะกรรมการชุดนี้พิจารณาเรื่อง”สภาคณาจารย์” ด้วยพร้อมๆ กับกา พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เนื่องจากการแก้ไขพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นงานใหญ่ ซึ่งต้องการเวลามากในการดำเนินการ การร่างข้อบังคับว่าด้วย “สภาคณาจารย์” เพื่อจัดตั้ง “สภาคณาจารย์” ก่อนการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติ จึงต้องจัดทำภายในขอบเขตของกฎหมายที่ใช้อยู่ ข้อบังคับว่าด้วย”สภาคณาจารย์” ที่คณะกรรมการชุดนี้ ร่างเสนอ จึงมีข้อจำกัดอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ร่างข้อบังคับว่าด้วย “สภาคณาจารย์” ผ่านเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณบดีหลายครั้ง ในที่สุดร่างข้อบังคับว่าด้วยสภาคณาจารย์ ได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยในคราวประชุม ครั้งที่ 286 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2514
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาคณาจารย์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2514 โดย ศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์ อธิการบดีเป็นผู้ลงนามในประกาศ เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2514 มีผู้ได้รับการเลือกตั้ง จำนวน 38 คน โดยแยกเป็นประเภทเลือกตั้งทั่วไป 7 คน และประเภทผู้แทนคณะ 31 คน มีการประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2514
สภาคณาจารย์ ขณะนั้นยังมิได้มีฐานะเป็นส่วนราชการ ตามพระราชบัญญัติฯ แต่สมาชิกสภาคณาจารย์ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของอธิการบดีในการบริหารงานของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวิชาการ มาตรฐานของอาจารย์ กิจการนิสิต และเรื่อง อื่นๆ ตามแต่จะได้รับมอบหมาย โดยยึดหลักในการพิจารณาด้วยความเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยโดยส่วนรวมเป็นที่ตั้งและได้มีบทบาทที่สำคัญต่อมหาวิทยาลัยมากขึ้นเป็นลำดับ โดยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคณาจารย์ทั้งปวง จำนวนสมาชิก สภาคณาจารย์ได้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนจำนวนคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย และตามหน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้น เช่น วิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันภาษาและคณะศิลปกรรมศาสตร์ ปัจจุบันมีสมาชิก 73 คน ซึ่งนับว่าเป็นสภาที่มีขนาดใหญ่พอสมควรกับลักษณะของมหาวิทยาลัย และเป็นที่รวมแห่งผู้รู้สาขาต่างๆ หรือเรียกว่าเป็น “ขุมความคิด” ของ มหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง
เมื่อพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฉบับปัจจุบัน มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2522 ได้มีการรับรองสภาคณาจารย์ไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยเป็นครั้งแรก และต่อมาได้มีข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ว่าด้วย สภาคณาจารย์อนุวัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อรองรับการทำงานของสภาคณาจารย์ว่าเป็นการปฏิบัติราชการให้แก่มหาวิทยาลัยอย่างหนึ่งด้วย
นอกจากการให้คำปรึกษา และข้อเสนอแนะแก่อธิการบดีแล้ว มหาวิทยาลัยยังให้สภาคณาจารย์ส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ จนถึงระดับสภามหาวิทยาลัย ซึ่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กำหนดให้ประธานสภาคณาจารย์เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่งด้วย