สภาคณาจารย์คือตัวแทนของคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ผ่านการเลือกตั้ง ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างชาวจุฬาฯทุกๆคน เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีในการที่จะมุ่งมั่นสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย โดยส่วนรวมอันจะเป็นผลดีต่อสังคม และประเทศชาติสืบต่อไป
คำปฏิญาณตนเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งของสมาชิกสภาคณาจารย์
“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของข้าพเจ้าโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งระเบียบข้อบังคับของสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ทุกประการ”
การเลือกตั้งสมาชิกสภาคณาจารย์
จำนวนสมาชิก หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง และการดำเนินงานของสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัย
ให้กำหนดเป็นข้อบังคับของมหาวิทยาลัย สภาคณาจารย์ ประกอบด้วย สมาชิกที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ และสมาชิกที่ดำรงตำแหน่ง ทางวิชาการอื่น
สมาชิกที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์
มีจำนวนสิบสองคน มาจากคณาจารย์ที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่สังกัดส่วนงานในกลุ่มสาขา
วิชาต่างๆ ดังนี้
– กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ จำนวนสี่คน
– กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จำนวนสี่คน
– กลุ่มสาขาวิชาสังคมศาสตร์และกลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์ จำนวนสี่คน
สมาชิกที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการอื่น มีสองประเภทดังนี้
– ประเภทผู้แทนทั่วไป มีจำนวนสิบสองคน มาจากคณาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัย
– ประเภทผู้แทนส่วนงาน มีจำนวนตามเกณฑ์ดังนี้
– ส่วนงานที่มีคณาจารย์ในสังกัดตั้งแต่ 21 คนขึ้นไป ให้มีสมาชิกได้ส่วนงานละ 2 คน
– ส่วนงานที่มีคณาจารย์ในสังกัดไม่ถึง 21 คน ให้รวมส่วนงานเข้าด้วยกันและให้มีสมาชิกได้ 2 คน
สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
สมาชิกที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ และที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการอื่นย่อมเป็นผู้แทนของ คณาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัย และมีหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างสภาคณาจารย์กับคณาจารย์ สมาชิกมีสิทธิเก็บข้อมูล ประมวลความคิดเห็น ตลอดจนแถลงกิจการของสภาคณาจารย์เป็นส่วนตัว เรื่องราวใดๆ ที่มีผู้เสนอต่อสมาชิก สมาชิกอาจดำเนินการดังต่อไปนี้
-
- เสนอเป็นญัตติหรือบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมของสภาคณาจารย์
- เสนอเรื่องต่อเลขาธิการเพื่อดำเนินการต่อไป
โครงสร้างสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สภาคณาจารย์มีคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องต่างๆ ในรายละเอียดเพื่อเสนอต่อสภาฯ 2 ประเภท
คือ คณะกรรมการประจำ และคณะกรรมการเฉพาะกิจ
คณะกรรมการประจำ ที่ได้จากการเลือกตั้ง ได้แก่
1. คณะกรรมการบริหารประจำสภา
2. คณะอนุกรรมการจรรยาบรรณคณาจารย์
3. คณะอนุกรรมการวิชาการ
4. คณะอนุกรรมการกิจการอาจารย์
5. คณะอนุกรรมการกิจการนิสิต
6. คณะอนุกรรมการกิจการบริหารมหาวิทยาลัย
คณะกรรมการเฉพาะกิจ
แต่งตั้งโดยประธานสภาคณาจารย์ตามมติหรือความเห็นชอบของที่ประชุม เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องที่
สภามอบหมายเป็นคราวๆ ไป